ศาสนสถานสำคัญของชาวพุทธ ที่อยู่ใกล้ตัวจนเกือบหลงลืม />

10/04/2020

ศาสนสถานสำคัญของชาวพุทธ ที่อยู่ใกล้ตัวจนเกือบหลงลืม

ศาสนสถานคือสิ่งก่อสร้างหรือพื้นที่ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้เป็นสถานที่ในการรวมตัวของกลุ่มคน หรือใช้เพื่อแสดงออกตลอดจนประกอบพิธีทางศาสนา ไม่เพียงแต่ศาสนาพุทธเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายศาสนาซึ่งสามารถเห็นสถานที่ในรูปแบบต่าง ๆ กันได้ เช่น โบสถ์ในศาสนาคริสต์ หรือมัสยิดในศาสนาอิสลาม 

โดยศาสนสถานที่สำคัญในศาสนาพุทธ และเป็นมรดกทางประวัติชิ้นสำคัญ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของคนไทย ก็คือ ‘วัด’ ที่เดินทางผ่านกาลเวลามาพร้อมกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา จนบางครั้งเราอาจจะหลงลืมไปว่าวัดเหล่านี้เคยเป็นที่ยึดเหนี่ยว ทั้งยังทรงครุณค่ากับจิตใจของเราขนาดไหน ดังนั้นวันนี้เราจะพาทุกคนไปรำลึกถึงความเป็นมา และทำความรู้จักสถานที่นี้กันอีกครั้ง

รวม 10 รายชื่อวัดดังของไทย ที่ควรไปเยือนให้ได้สักครั้ง

วัดสระเกศ

ความเป็นมาของ วัด

ศาสนาพุทธเรามีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศประเทศอินเดีย ตามพุทธประวัติที่เคยเรียนกันมาตั้งแต่ยังเด็ก ดังนั้นวัดแรก ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นก็จะอยู่ในพื้นที่แถบนั้นเช่นกัน ซึ่งเดินที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานสถูปเจดีย์ และเป็นที่พักของพระสงฆ์

ต่อมาเมื่อประมาณพุทธศวรรษที่ 12–16 มีการคาดการณ์ว่าเกิดการจัดสร้างวัดแห่งแรกขึ้นที่ประเทศไทย จากการเดินทางเผยแพร่ศาสนาในสมัยนั้น โดยคาดว่าเป็นวัดที่จังหวัดสุพรรณบุรีหรือราชบุรี แต่ก็ยังไม่ได้มีการยืนยันแน่ชัดเสียทีเดียว แต่ถึงอย่างนั้นก็จะทำให้เราเห็นได้ว่าคนไทยกับวัดนั้นอยู่คู่กันมาเป็นเวลานานมากแล้วนั่นเอง

การจัดประเภทของวัดในปัจจุบัน

เดิมทีวัดอาจจะเป็นเพียงสถานที่ซึ่งไม่ได้ยึดติดว่าจะต้องมีหน้าตาอย่างไร หรือจะต้องมีการจัดจำแนกให้วุ่นวาย เพราะเป็นการสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นพื้นที่ทางศาสนา แต่ในปัจจุบันสถานที่เหล่านั้นส่วนมากได้กลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญ บางแห่งยังกลายเป็นโบราณสถานระดับชาติที่จะต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ ดังนั้นการยกย่องและแบ่งประเภทของวัดวาอารามต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งจำเป็น และเพื่อจำแนกว่าใครเป็นผู้ที่สร้างวัดขึ้นมา โดยแบ่งออกได้ดังนี้

พระอารามหลวง

วัดที่ถูกจัดอยู่ในระดับพระอารามหลวง หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘วัดหลวง’ เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์  พระบรมวงศานุวงได้ทรงสร้างขึ้น ในอีกกรณีหนึ่งก็คือเป็นวัดที่ชาวบ้านได้จัดสร้างขึ้นแล้วนำไปถวายให้พระมหากษัตริย์ทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยพระอารามหลวงแบ่งออกเป็น 

  • ชั้นเอก มี 3 ชนิด ได้แก่ ราชวรมหาวิหาร ราชวรวิหาร และวรมหาวิหาร 
  • ชั้นโท มี 4 ชนิด ได้แก่ ราชวรมหาวิหาร ราชวรวิหาร วรมหาวิหาร และวรวิหาร 
  • ชั้นตรี มี 3 ชนิด ได้แก่ ราชวรวิหาร วรวิหาร และสามัญ

วัดราษฎร์ 

วัดราษฎร์เป็นวัดที่ผู้คนชาวบ้านได้สร้างขึ้นตามกำลังศรัทธา ซึ่งวัดประเภทนี้จะเห็นได้มากในช่วงอดีต เพราะจะเห็นได้ว่ามีวัดมากมายตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ที่เรียงรายอยู่เต็มไปหมด ไม่ใช่เฉพาะตามเมืองใหญ่ ๆ เท่านั้น เพราะชาวบ้านตามหมู่บ้านหรือพื้นที่ห่างไกลที่นับถือศาสนาพุทธ หากมีกำลังมากพอก็มักจะรวมตัวกันสร้างวัดขึ้นมา เพื่อเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ 

สำนักสงฆ์ 

สำนักสงฆ์เป็นสถานที่ซึ่งแต่เดิมสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พำนักของพระภิกษุสงฆ์ แต่ยังไม่เป็นวัดเพราะยังไม่ได้รับวิสุงคามสีมา (วิสุงคามสีมา คือ เขตที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่สงฆ์เพื่อใช้เป็นที่สร้างพระอุโบสถ) แต่สามารถประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ เป็นที่ร่วมใจของชาวบ้านที่มีจิตใจอันเป็นกุศลร่วมกันสร้างขึ้น ซึ่งสำนักสงฆ์ในลักษณะนี้จะแตกต่างจากวัดตรงที่ไม่มีอุโบสถนั่นเอง

พระอารามหลวง วัดเทพศิรินทร์

พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร (วัดเทพศิรินทร์)

วัดทั่วไปต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง

ในความเป็นจริงนั้นรูปแบบของวัดมักจะได้รับอิทธิพลมาจากความเชื่อ วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และเอกลักษณ์ทางศิลปะของคนในแต่ละท้องที่ ซึ่งแน่นอนว่าล้วนมีความหลากหลาย ดังนั้นวัดจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่บอกเล่าวิถีชีวืตของคนในชนชาตินั้น ๆ แต่ถ้าจะต้องจำแนกว่าวัดส่วนใหญ่ ต้องมีองค์ประกอบในการใช้งานอย่างไร ก็อาจจะแบ่งออกเป็นสามส่วนได้ดังนี้ 

เขตพุทธาวาส 

เป็นสัดส่วนพื้นที่การใช้งานที่จัดเอาไว้สำหรับให้พระสงฆ์เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาต่าง ๆ เช่น มณฑป อุโบสถ วิหาร ศาลา เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปหลักในการจัดวางพระวิหาร และพระอุโบสถซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของวัด มักจะออกแบบให้มีรูปทรงเป็นอาคารที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เพื่อเป็นการอ้างอิงเหตุการณ์ในตอนที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้นั่นเอง

เขตสังฆาวาส 

สำหรับพื้นที่ในเขตนี้จัดเป็นพื้นที่ซึ่งกำหนดให้เป็นที่พักอาศัย หรือใช้ประโยชน์ในกิจวัตรประจำวันของพระสงฆ์ ใช้เพื่อพักผ่อนหรือทำการศึกษาหลักธรรมทางพุทธศาสนา เช่น กุฏิ หอฉัน ศาลาการเปรียญ หอไตร เป็นต้น ซึ่งจะมีจำนวนมากเท่าไหร่ หรือรูปทรงของอาคารเป็นแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดสร้างได้เลย

เขตธรณีสงฆ์ 

เขตธรณีสงฆ์ เป็นที่ซึ่งเป็นที่ดินของทางวัด ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในด้านของพิธีทางศาสนาโดยตรง เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ของวัดเพื่อใช้ประโยชน์ในลักษณะต่าง ๆ เช่น เมรุ สุสาน สถานที่จอดรดสำหรับประชาชน เป็นต้น นอกจากนั้นเราอาจจะเคยเห็นโรงเรียนที่เปิดให้เด็กในพื้นที่เข้ามาศึกษากัน โดยใช้พื้นที่ในเขตธรณีสงฆ์ก็ได้ด้วยเช่นกัน

ในปัจจุบันวัดไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ซึ่งใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของคนไทยและชาวต่างชาติได้อีกด้วย ดังนั้นถึงแม้ว่าจะผ่านมากี่ร้อยกี่พันปี วัดก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่จะถูกจารึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ตราบนานเท่านาน

ศาสนสถานสำคัญของชาวพุทธ ที่อยู่ใกล้ตัวจนเกือบหลงลืม

คูความหมายเขตพุทธาวาส สังฆาวาส และธรณีสงฆ์   https://blog.rmutl.ac.th/suebpong/conweb/wat.htm